รายละเอียด
ผ้าไทย ถือเป็นหัตถกรรมและหัตถศิลป์มรดกอันล้ำค่าของเมืองไทย มีความงดงามของเส้นไหมที่เป็นเอกลักษณ์ลวดลายที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย ทำให้เป็นผ้าไหมไทยได้รับความนิยม และโด่งดังไปทั่วโลกในอดีตผ้าไหมไทยถูกนำมาใช้ในหมู่สมาชิกของราชวงศ์ และข้าราชการเท่านั้น แต่ในยุคปัจจุบันผ้าไหมไทยก็เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่น วงสังคมชั้นสูง และประชาชนทั่วไป เช่นกัน ผ้าไหมไทยเป็นผ้าที่นิยมใช้ในชุดแต่งงาน, ชุดไทย, ชุดไทยออกงานสำหรับสวมใส่ในงานปาร์ตี้ งานบุญ
ลักษณะเด่น
ผ้าไหมยกดอกนั้นมีประวัติมายาวนานคู่กับประวัติศาสตร์ไทยและเป็นผ้าไหมที่ได้ถูกนำมาใช้ในงานพระราชพิธีและปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นที่นิยมใส่ในงานแต่งงานและงานต่างๆ ผ้าไหมยกดอกนั้นนิยมนำไปใช้สำหรับชุดแต่งงาน ชุดไทยภาคกลางและสำหรับสวมใส่ในงานเลี้ยงที่เป็นทางการและงานในพระราชพิธี ส่วนกระบวนการผลิตหรือการทอผ้าไหมยกดอกนั้นต้องใช้ความปราณีตและใช้เวลาค่อนข้างนานเพราะการทอแต่ละครั้งนั้นช่างทอจำเป็นต้องใช้ความสามารถและประสบการณ์เพื่อจะรังสรรค์ผ้าไหมยกดอกอันวิจิตรงดงามแต่ละชิ้นได้
ผ้ายก หมายถึง ผ้าไหมที่ทอยกลวดลายให้นูนสูงขึ้นกว่าผืนผ้า โดยเลือกยกบางเส้นและข่มบางเส้น แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลางด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง ซึ่งเทคนิคในการทอยกให้เกิดลวดลายนี้เรียกว่า เทคนิคการยกดอก ผ้ายกเป็นผ้าโบราณที่อดีตใช้ในคุ้มเจ้าหรือในพระราชสำนักเท่านั้น
ผ้าไหมยกดอก มีความหมายเดียวกับผ้ายก ต่างกันที่การใช้ไหมพุ่งอาจจะใช้เส้นไหมสีต่างๆ แทนเส้นดิ้นในการทอผ้า คำว่า ยกดอก นั้นเพื่อบ่งบอกถึงเทคนิคที่ใช้ทอผ้าและบ่งบอกถึงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูนที่เป็นลวดลายดอกไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ดังนั้นจึงเรียกว่า "ผ้าไหมยกดอก" หรือ "ผ้าไหมยกดอก ลำพูน"
การประดิษฐ์ลวดลายนั้น ผ้ายกลำพูนนับว่าเป็นศิลปะการทอผ้าที่มีลวดลายงดงามมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีรูปแบบลวดลายที่อ่อนช้อยงดงามของธรรมชาติ เป็นเรื่องราวของดอกไม้ ใบไม้ เช่น ลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำลวดลายธรรมชาติเหล่านี้ประยุกต์เข้ากับลายไทยต่างๆ ตามจินตนาการของผู้ออกแบบ สำหรับลวดลายที่เป็นลายโบราณดั้งเดิมและยังได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุลหรือดอกแก้ว ซึ่งเริ่มแรกในสมัยโบราณไม่มีการบันทึกลวดลายเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องจดจำลวดลายไว้ในหัวสมอง ถ้าความจำลบเลือนหรือเสียชีวิตไป ลวดลายที่จดจำไว้นั้นก็สูญหายไปด้วย ทำให้ลายผ้าโบราณหายไปมากเพราะไม่ได้ลอกลายไว้ ต่อมา เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน (สมรสกับโอรสเจ้าผู้ครองนครลำพูน) ได้รับการถ่ายทอดวิชาทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้าน และมีความสามารถในการเรียนรู้ลายผ้ายกโบราณที่สวยงามของคุ้มลำพูน จึงได้เริ่มเก็บลวดลายไว้โดยบันทึกไว้ในกระดาษกราฟ เพื่อเป็นต้นแบบและป้องกันการสูญหายทางลำพูนไหมไทยภูมิใจที่จะบอกว่ารูปแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทั้งหมดมีความพิเศษ และไม่เหมือนใคร อีกทั้งเรายังเน้นการยกระดับมาตรฐานการทอในทุกขั้นตอนเพื่อจะทอผ้าไหมยกดอกออกมาให้ดีที่สุด